วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

การศึกษากับสื่อมัลติมีเดีย

ปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีมีความสำคัญอย่างมากต่อชีวิตประจำวันของคนเรา ซึ่งก็รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีเกี่ยวกับการศึกษาด้วย โดยเฉพาะการจัดการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัย ถือเป็นการศึกษาตลอดชีวิต การให้ ความสำคัญของเทคโนโลยีต่อการศึกษา ปรากฎอย่างเด่นชัดในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ มาตรา 66 ที่กล่าวไว้ว่า ผู้เรียนมีสิทธิได้รับการพัฒนาขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อให้มีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

บทบาทของเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการศึกษา ซึ่งเมื่อสังเกตสภาพแวดล้อมรอบ ๆ ตัวในเรื่องเทคโนโลยีกับบทบาทในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จะเห็นว่า เทคโนโลยีมีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการจัดการศึกษาด้านต่าง ๆ เช่น

1. ด้านสื่อสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือ ตำรา เอกสารชุดวิชา และสื่อสิ่งพิมพ์อื่น ๆ

2. ด้านสื่อโสตทัศน์ เช่น วัสดุ อุปกรณ์ และโสตทัศนูปกรณ์ เทป เสียง และวีดีทัศน์

3. ด้านสื่อสารมวลชน เช่น รายการวิทยุกระจายเสียงทางการศึกษา รายการวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา

4. ด้านสารสนเทศ เช่น ซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ มัลติมีเดีย เครือข่ายฐานข้อมูล และ Internet

เทคโนโลยีสมัยใหม่ดังกล่าว ทั้งเทคโนโลยีการสื่อสาร และ เทคโนโลยีโทรคนาคม เป็นการพัฒนาระบบการสื่อสารตามสาย ได้พัฒนาจนเป็นระบบทางด่วนข้อมูล (Information Super Highway) สื่อสารข้อมูลผ่านคลื่นวิทยุทั้งบนพื้นโลกและส่งผ่านดาวเทียมที่โคจรอยู่นอก โลก ทำให้สามารถเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายขึ้น และเทคโนโลยีการสื่อสารนี่เอง ที่เป็นตัวเชื่อมให้คอมพิวเตอร์กับฐานข้อมูลที่กระจายกันอยู่ทั่วโลก สามารถเชื่อมต่อกันได้ เกิดสภาการณ์ไร้พรมแดน หรือโลกาภิวัฒน์กับสังคมโลก ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ เริ่มต้นมาจากการพัฒนาการของเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและคอมพิวเตอร์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการจัดกระทำกับข้อมูลข่าวสาร หรือสารสนเทศ ในด้านการเก็บรักษา การค้นหาเรียกใช้ การจัดหมวดหมู่ การประยุกต์ใช้ และการเผยแพร่

ปัจจุบันการใช้ เทคโนโลยีเหล่านี้ ได้ช่วยให้บุคคลทุกระดับชั้นสามารถใช้เทคโนโลยีดังกล่าวได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมคุณภาพ และประสิทธิภาพในการจัดการศึกษา ที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการจัดการเรียนการสอน ซึงเป็นเป้าหมายสำคัญของการบริหารการศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล เพื่อนำไปสู่คุณภาพของผู้จบการศึกษา และคุณภาพของระบบบริหารและการจัดการเรียนการสอน ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าการศึกษานั้นจะเป็นการศึกษาในระบบ นอกระบบ หรือตามอัธยาศัย ก็สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ ในการศึกษาหาความรู้ในทุกเรื่องที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใด ก่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต


เมื่อ กล่าวถึงมัลติมีเดีย จะเป็นสิ่งที่กว้างมาก เนื่องจากว่ามัลติมีเดียเกิดจากการนำภาพ เสียง ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว วิดีโอมาผสมผสานเข้าด้วยกัน แต่เนื่องจากว่าปัจจุบันนี้คอมพิวเตอร์กำลังเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของคนเรา เป็นอย่างมาก ดังนั้นถ้าหากได้ยินใครกล่าวถึงมัลติมีเดียคนทั่วไปมักจะนึกถึงคอมพิวเตอร์ เพียงอย่างเดียว ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นความเข้าใจที่ผิด แต่ก็ได้มีนักการศึกษาหลาย ๆ ท่านได้ให้ความหมายของมัลติมีเดียไว้ดังนี้

มัลติมีเดีย หมายถึง การนำองค์ประกอบของสื่อชนิดต่าง ๆ มาผสมผสานเข้าด้วยกัน ซึ่งประกอบด้วย ตัวอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง วิดีโอ โดยผ่านกระบวนการทางระบบคอมพิวเตอร์ (ทวีศักดิ์ กาญจนสุวรรณ. 2546)

มัลติมีเดีย คือ ระบบสื่อสารข้อมูลข่าวสารหลายชนิด โดยผ่านสื่อทางคอมพิวเตอร์ ซึ่งประกอบด้วย ข้อความ ฐานข้อมูล ตัวเลข กราฟิก ภาพเสียงและวิดีทัศน์ (Jeffcoate. 1995)

มัลติมีเดีย คือ การใช้คอมพิวเตอร์สื่อความหมายโดยการผสมผสานสื่อหลายชนิด เช่น ข้อความ กราฟ ภาพศิลป์ (Graphic Art) เสียง ภาพเคลื่อนไหว (Animation) และวิดีทัศน์ เป็นต้น ถ้าผู้ใช้สามารถควบคุมสื่อเหล่านี้ให้แสดงออกมาตามต้องการได้ระบบนี้จะเรียก ว่า มัลติมีเดียปฏิสัมพันธ์(InteractiveMultimedia) (Vaughan. 1993)

มัลติมีเดีย คือ โปรแกรมซอฟต์แวร์ที่อาศัยคอมพิวเตอร์เป็นสื่อในการนำเสนอโปรแกรมประยุกต์ ซึ่งรวมถึงการนำเสนอข้อความสีสัน ภาพกราฟิก (Graphic images) ภาพเคลื่อนไหว (Animation) เสียง (Sound) และภาพยนตร์วิดีทัศน์ (Full motion Video) (Hall. 1996)

เนื่องจากว่าคอมพิวเตอร์กำลังได้รับ ความนิยมแพร่หลายทั่วไปเพราะมีราคาถูก หาซื้อได้ง่ายให้ทั้งภาพกราฟิกและภาพเคลื่อนไหว และในสถานศึกษาต่าง ๆ ก็จะจัดให้ผู้เรียนได้เรียนคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้นทุกวันนี้คอมพิวเตอร์จึงได้เข้ามามีบทบาทกับการศึกษาเป็นอย่างมาก และเนื่องจากเทคโนโลยีปัจจุบันได้เจริญก้าวหน้าไปมาก มีสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายคอมพิวเตอร์ในส่วนของมัลติมีเดียทางการศึกษาก็เช่นเดียวกัน ในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาได้มีสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้นกับคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาที่รู้จักกันดี เช่น e – learning โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน หรือ CAI ซึ่งจะสังเกตเห็นว่าทั้ง e – learning และ CAI ต่างก็เป็นมัลติมีเดียคอมพิวเตอร์ที่เกิดจากการนำเอาภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ มาผสมผสานกันเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้อีกแหล่งหนึ่งของผู้เรียน ทำให้เนื้อหาของบทเรียนมีความน่าสนใจ น่าศึกษามากขึ้น คอมพิวเตอร์จึงได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลมัลติมีเดียทางการศึกษาขนาดใหญ่ที่ผู้ เรียนสามารถเรียนรู้ระหว่างกันเองได้

นอกจากระบบการศึกษาจะต้องเตรียมตัวรับ กับความก้าวหน้าของมัลติมีเดียคอมพิวเตอร์แล้ว ครูในฐานะผู้ใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดียก็จะต้องเตรียมความพร้อมให้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องของเทคโนโลยีทั้งในเรื่องของวิธีการใช้ฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ เพื่อให้สามารถควบคุมและประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในการสร้างสื่อต่างๆได้ ครูจะต้องเป็นผู้ที่พัฒนาตนเองอยู่เสมอในการที่จะขวนขวายหาความรู้และทำความ เข้าใจการใช้คอมพิวเตอร์มัลติมีเดียในการจัดการเรียนการสอนให้มีความทันสมัย เร้าความสนใจเด็ก

ดังนั้นมัลติมีเดียคอมพิวเตอร์ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยในการลดภาระงานสอนและประหยัดเวลาของ ผู้สอน และนอกจากนั้นยังช่วยให้ผู้เรียนได้เลือกเข้าไปศึกษาได้ตามความสนใจ ทุกที่ ทุกเวลาโดยไม่จำกัด สามารถฝึกได้ตลอดจนเกิดความชำนาญ และช่วยให้ระบบการจัดการศึกษามีความน่าสนใจมากขึ้นอีกด้วย

แหล่งอ้างอิง

http://www.seameo.org/vl/pallop/multime.htm

http://www.nectec.or.th/courseware/multimedia/0003.html

http://www.nectec.or.th/courseware/multimedia/0001.html